Skip to content
ทองถนิม
ทองถนิม
ทองถนิม
ทองถนิม
  • เกี่ยวกับเรา
  • ห้องชมงาน
  • คลังความรู้
  • ติดต่อเรา
ปณิธาน ก่อตั้งทองถนิม ห้องข่าว ความเป็นมาของช่างทองหลวง
สร้อยทองโบราณ แหวนทองโบราณ ต่างหูทองโบราณ กำไลทองโบราณ ปิ่นทองโบราณ ทับทรวงทองโบราณ ผอบทองโบราณ เครื่องทรงพระ กรอบพระ

การกินหมาก...จากวัฒนธรรมสู่เครื่องประกอบยศ

การกินหมากเป็นวัฒนธรรมสำคัญของคนไทยในอดีต และมีการสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน วัฒนธรรมการกินหมากมีความเกี่ยวข้องกับประเพณี ความเชื่อและเป็นสัญลักษณ์แทนคุณค่าต่าง ๆ ในสังคมไทย เช่น เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างความสัมพันธ์อันดี การให้หมากพลูถือเป็นการแสดงความเคารพนับถือ การกินหมากร่วมกันเป็นเครื่องแสดงถึงความไว้วางใจกัน เมื่อมีแขกมาเยือนบ้าน คนไทยในสมัยก่อนก็จะเตรียมน้ำและหมากเอาไว้รอต้อนรับ สำหรับหนุ่มสาวในอดีต การให้หมากหรือการคายชานหมากให้กันถือเป็นการแสดงความรักต่อกัน และจากค่านิยมนี้ จึงเกิดเป็นประเพณียกขันหมากขึ้นในพิธีแต่งงาน เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงและเพื่อแสดงไมตรีจิตอันดี

เครื่องหมากพระราชทาน1

การกินหมากทำให้มีฟันดำ ซึ่งในสมัยก่อนการมีฟันดำเป็นการสะท้อนถึงความสวยงามอย่างหนึ่ง จนมีการกล่าวว่า “หมาน่ะ ที่มีฟันสีขาว” หรือ“ขอให้ฟันดำเหมือนลูกหว้า ขอให้ปัญญาเหมือนพระมโหสถ” ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงมีหมากพลูติดตัวเพื่อไว้เคี้ยวอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องค่านิยมการมีฟันสีดำนี้ นิโกลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมากรุงศรีอยุธยาในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า “สิ่งที่ผู้หญิงสยามไม่อาจทนดูพวกเราได้ ก็คือตรงที่พวกเรามีฟันสีขาว เพราะพวกนางเชื่อกันว่าภูตผีปีศาจเท่านั้นมีฟันขาว และเป็นเรื่องที่น่าอับอายที่มนุษย์จะมีฟันขาวเหมือนสัตว์เดรัจฉาน”

เนื่องด้วยวัฒนธรรมการกินหมากเป็นประเพณีที่สำคัญ จึงทำให้เกิดการสร้างเครื่องใช้ในการกินหมากหรือเชี่ยนหมากที่มีความสวยงามและประณีต แตกต่างกันไปตามฐานะและรสนิยมของผู้ใช้ เครื่องใช้ในการกินหมากได้กลายมาเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม หากเป็นชาวบ้านทั่วไปก็จะใช้เชี่ยนหมากไม้ธรรมดา หากมียศถาบรรดาศักดิ์เชี่ยนหมากก็จะทำจากไม้แกะสลัก เครื่องเขิน เครื่องทองเหลือง เงิน นาก ในชนชั้นกษัตริย์ก็จะทำจากทองคำตกแต่งลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม เรียกว่าพานพระขันหมากหรือพานพระศรีซึ่งจัดเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภค นอกจากเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมแล้ว เครื่องใช้ในการกินหมากยังเป็นเครื่องหมายหรือเครื่องประกอบที่แสดงถึงเกียรติยศ และความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่ ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่ราชตระกูลและข้าราชการเพื่อเลื่อนยศหรือเพื่อบำเหน็จความดีความชอบอีกด้วย

เครื่องหมากพระราชทาน

ภาพประกอบ : เครื่องราชูปโภคทองคำที่พบในกรุวัดราชบูรณะ ปัจจุบันถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

จากเอกสารโบราณพบว่า มีการพระราชทานเครื่องยศที่ประกอบด้วยเครื่องใช้ในการกินหมาก เช่น เจียด พานหมาก โต๊ะ กระโถน ถาดหมาก มาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา จากคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวถึงการพระราชทานเครื่องยศประจำตำแหน่งขุนนางไว้ดังนี้ “เจ้าพระยามหาอุปราช พานหมากทองสองชั้น เครื่องทอง คนโททองสลักลาย ขันทองสลักลาย กระโถนทอง เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ที่สมุหกลาโหม ได้พระราชทานพานหมาก เครื่องในเงิน คนโททอง ขันทองสลักลาย มีพานเงินรอง กระโถนเงิน เจ้าพระยาจักรี เหมือนกับเจ้าพระยามหาเสนาบดีทุกอย่าง ผิดกันตรงเครื่องพาหนะ”

สืบเนื่องมาในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ยังคงมีการพระราชทานเครื่องยศที่ประกอบด้วยเครื่องใช้ในการกินหมาก ช่วงรัชกาลที่ ๑-๔ การพระราชทานเครื่องยศยังคงได้รับแบบแผนมาจากสมัยอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีข้าราชการเพิ่มมากขึ้น การพระราชทานเครื่องยศจึงไม่สะดวกและรวดเร็วเหมือนอดีต จึงทรงงดพระราชทานเครื่องยศและโปรดพระราชทานเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์แทน แต่ยังคงมีการพระราชทานเครื่องยศให้เป็นเครื่องประกอบเฉพาะเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า โดยมีระเบียบกำหนดเครื่องยศในปัจจุบัน ดังนี้
​๑.ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ – ปฐมจุลจอมเกล้า
พานหมากทองคำสลักลาย เครื่องพร้อม คือ
ซองพลูคู่ มังสีคู่ ผอบทรงมณฑป ตลับพู่ มีด คนโทน้ำสลักลายพร้อมพานรอง
กาน้ำทองคำสลักลายพร้อมโต๊ะทองคำ หีบบุหรี่พร้อมพานรอง กระโถนทองคำสลักลาย
๒.ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ – ทุติยจุลจอมเกล้า
พานหมากทองคำสลักลาย เครื่องพร้อม คือ
ซองพลูคู่ มังสีคู่ ผอบคู่ ตลับพู่ และมีด คนโททองคำสลักลายพร้อมพานรอง
กาน้ำทองคำสลักลายพร้อมโต๊ะทองคำ กระโถนทองคำสลักลาย
๓.ตติยจุลจอมเกล้า
โต๊ะทอง กาน้ำสลักลาย
สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ เปลี่ยนพานหมากจากทรงกลมเป็นทรงเหลี่ยม
คนโทน้ำ กาน้ำ และกระโถนเป็นพื้นเรียบ ไม่มีการสลักลาย

เครื่องหมากพระราชทาน2

ผลงาน : พานทองคำ เทคนิคการขึ้นรูปสลักดุนและลงยาสี ออกแบบและรังสรรค์ผลงานโดยร้านทองถนิม

วัฒนธรรมการกินหมากได้เสื่อมถอยลง เนื่องจากในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศห้ามกินหมาก ห้ามค้าขายและห้ามทำสวนหมาก โดยมองว่าการกินหมากเป็นสิ่งที่แสดงถึงความล้าหลังทางวัฒนธรรม แต่ก็ยังมีการค้าขายในตลาดมืด ทำให้หมากในยุคนั้นมีราคาแพง จึงเป็นที่มาของสำนวน "ข้าวยากหมากแพง"

ถึงแม้ว่าการกินหมากแทบจะสูญหายไปในปัจจุบันนี้ แต่เครื่องใช้ในการกินหมากยังคงถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องยศประกอบกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และสามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า เครื่องใช้ในการกินหมากไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับการกินหมากเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงยศ และการกระทำคุณงามความดีของบุคคลที่มีต่อแผ่นดินอีกได้ด้วย

ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.goldtraders.or.th
http://www.treasury.go.th
http://emuseum.treasury.go.th
http://www.sacict.or.th

“เรารังสรรค์งานประณีตศิลป์ด้วยใจ และด้วยความพิถีพิถัน”

การกินหมาก

footer-eight-emblem

เกี่ยวกับเรา

ปณิธาน

ก่อตั้งทองถนิม

ห้องข่าว

ความเป็นมาของช่างทองหลวง

footer-ring

ห้องชมงาน

สร้อยทองโบราณ

แหวนทองโบราณ

ต่างหูทองโบราณ

กำไลทองโบราณ

ปิ่นทองโบราณ

ทับทรวงทองโบราณ

ผอบทองโบราณ

เครื่องทรงพระ

กรอบพระ

footer-flower-earring

ติดต่อเรา

สถานที่ตั้ง

เฟซบุ๊ค

อีเมล์

โทรศัพท์

 รูปภาพและเนื้อหาทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของ ร้านทองถนิม ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ | เว็บไซต์นี้พัฒนาโดย บริษัท ไนซีทิ ไนน์ จำกัด

goldenflower
Scroll To Top