ว่ากันด้วยเรื่องของทอง.…ทองคำและคำไทย
ทองเป็นของคู่บ้านคู่เมืองสยามมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เชื่อกันว่าแผ่นดินสุวรรณภูมิหรือดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์เป็นดินแดนทองและเป็นถิ่นที่นิยมทองมาก ค่านิยมไทยตั้งแต่สมัยก่อน ถือกันว่าทองมีค่าสูงและเป็นที่นิยมยอมรับกันเป็นสามัญ สามารถใช้กำหนดแทนสิ่งของได้ทุกอย่าง ตลอดจนใช้แทนเงินตรา ทองถูกนำมาใช้เป็นของรางวัลตอบแทนให้กัน เมื่อยามที่ต้องมีการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ของกำนัลและเครื่องบรรณาการสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือทอง ในสังคมถ้าผู้ใดมีทองมากก็จะมีหน้ามีตาเป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไป ในการประดับตกแต่งร่างกาย คนโบราณก็ถือว่าทองมีความจำเป็น เพราะช่วยเสริมสร้างความสวยงามและช่วยขับผิวพรรณให้ดูเปล่งปลั่ง ในการตั้งชื่อบุตรหลานก็นิยมเอาคำที่เกี่ยวกับทองมาผสมด้วย ถือว่าเป็นมงคลนาม

กรอบพระทองคำ สำหรับประดิษฐานเหรียญหลวงปู่ทวดรุ่นเปิดโลก
จากค่านิยมที่แพร่หลายเกี่ยวกับทอง จึงมีคำมากมายในภาษาไทยที่ใช้เรียกทอง ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็จะเป็นคำว่า “ทองคำ” คำว่า “คำ” ในที่นี้เป็นภาษาถิ่นเหนือ แปลว่า ทอง ดังนั้นคำว่า ทองคำ จึงเป็นคำซ้อน หมายถึง ทอง
ยังมีคำไวพจน์ (คำที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกัน) อีกมากมาย ที่แปลว่า ทอง เช่น สุพรรณ, สุวรรณ, เหม, มาศ, กนก, กาญจนา, อุไร, จามีกร, จารุ, ตปนียะ, ชาตรูป, ชมพูนุท, หิรัณย์, หาดก
และนอกจากนี้ ยังมีคำโบราณที่เกี่ยวกับทองอีกหลายคำ ทองถนิมขอหยิบยกบางคำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ทราบความหมายกันนะครับ
ทองคำเลียง หมายถึง เนื้อทองคำบริสุทธิ์ปราศจากธาตุอื่นเจือปน ในภาษาถิ่นเหนือเรียกว่า “คำขา” (คำว่า “เลียง” แปลว่า ไล่สิ่งไม่บริสุทธิ์ออก เช่น เลียงทอง หมายถึง ไล่สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ออกจากทอง) สำหรับคำที่ใช้เรียก ทองคำบริสุทธิ์ ยังมีอีก เช่น ทองชมพูนุท, ทองธรรมชาติ, ทองเนื้อแท้, ทองเนื้อเก้า, ทองนพคุณ (บางทีก็เรียกว่า นพคุณเก้าน้ำ)

ปิ่นปักผมทองคำ
ทองดอกบวบ หรือทองสีดอกบวบ เป็นทองเนื้อหก (คิดคร่าวๆ โดยประมาณเท่ากับทอง 16K หรือ 66%) มีสีเหลืองอ่อนคล้ายดอกบวบ คนโบราณจึงเรียกกันเช่นนั้น และนิยมนำมาทำพระพุทธรูปหรือเป็นภาชนะ
ทองแล่ง คือ ทองคำที่เอามาแล่งให้เป็นเส้นบางๆ เล็กๆ ใช้สำหรับปักหรือทอเป็นเครื่องนุ่งห่มที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อใช้ในพิธีกรรมสำคัญ บางทีก็ทำเป็นเส้นลวดกลมสานขัดกันเป็นเครื่องศิราภรณ์สำหรับประดับศีรษะ หรือทำเป็นลวดทองขนาดใหญ่ใช้สำหรับเป็นตัวเชื่อมยึดเกี่ยวชิ้นส่วนของเครื่องทองต่าง ๆ ให้ติดกัน เช่น เครื่องทรงสำหรับพระพุทธรูป หรือใช้สำหรับคาดรัดยอดเจดีย์ที่ห่อหุ้มด้วยทองคำ
ทองแป หรือทองคำแป เป็นชื่อเรียกเหรียญทองตราโบราณชนิดหนึ่ง ใช้แทนเงินตราสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าได้
ทองใบ หรือทองใบใหญ่ คือทองคำที่ตีแผ่ให้เป็นแผ่นบางๆ แล้วตัดออกเป็นใบๆ รูปสี่เหลี่ยม สามารถพับม้วนเก็บให้เป็นหลอดกลมยาวได้ หรือเรียกว่า “ทองม้วน” (อย่าสับสนกับทองม้วนที่เป็นชื่อขนมนะครับ) ทองใบใหญ่เป็นทองที่ซื้อมาจากเมืองจีนในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากทองของไทยในยุคนั้นขาดแคลนและความต้องการของประชาชนมีมาก

แหวนนพรัตน์ทองคำ ทรงพิรอด
ทองคำเปลว เป็นทองที่คนไทยนิยมใช้และรู้จักกันมานานเป็นอย่างดี คือทองที่ตีแผ่ให้เป็นแผ่นบางที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยเนื้อทองไม่แตกแยกออกจากกัน แล้วตัดใส่แผ่นกระดาษ ใช้สำหรับปิดบนวัตถุสิ่งของที่ลงรัก เช่น พระพุทธรูป ตู้พระธรรม ไม้แกะสลัก ฯลฯ ทองคำเปลวถ้าเป็นแผ่นทองคำเปลวเนื้อบริสุทธิ์ชนิดหนาเหมือนของหลวง เรียกว่า ทองประทาศี หรือ ทองประทากล้อง หรือถ้าจะเรียกให้ถูกต้องเต็มคำ จะเรียกว่า “ทองประทากล้อง ทองประทาศี”
ทองรูปพรรณ หรือที่ชาวบ้านชอบพูดกันติดปากว่า “ทองหยอง” หมายถึงทองคำที่นำมาประดิษฐ์สำเร็จรูปเป็นเครื่องประดับตกแต่ง และของใช้สอยรูปทรงต่าง ๆ หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือทองคำที่ถูกนำมาขึ้นรูปแล้ว เพื่อให้เป็นเครื่องประดับหรือภาชนะใช้สอยนั่นเอง ในสมัยโบราณการสู่ขอแต่งงานนิยมเรียกค่าสินสอดของหมั้นเป็นทองคำรูปพรรณ ซึ่งได้แก่สร้อย กำไล แหวน ต่างหู ฯลฯ จึงเป็นที่มาของคำที่ใช้เรียกคนที่แต่งงานกันแล้วว่า
“กลายเป็นทองแผ่นเดียวกัน”
ทองทราย หมายถึงทองที่เป็นเม็ดๆ อย่างทรายปนอยู่กับทราย
ดินแดนสยามของเราสมกับเป็นดินแดนในแถบสุวรรณภูมิจริง ๆ เลยนะครับ นิยมการบริโภคทองมาก จึงมีคำมากมายที่เกี่ยวกับทองคำเช่นนี้ และยังมีคำอื่น ๆ เกี่ยวกับทองอีกนะครับ เช่น ทองทศ ทองพิศ ทองพัดดึงส์ เอาไว้ในบทความหน้า ทองถนิมจะขอมาแชร์ข้อมูลอีกนะครับ
(ขอบคุณแหล่งที่มาดี ๆ ของข้อมูล หนังสือเครื่องทองสมัยอยุธยา โดยกรมศิลปากร และพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)
ทองถนิม รับออกแบบและจัดทำเครื่องประดับโบราณ เครื่องทองโบราณ ทับทรวง เครื่องถมและลงยา แหวนโบราณ เครื่องทรงพระ กรอบพระ ทับทรวง ต่างหูโบราณ เครื่องประดับไทย เครื่องทองไทย แหวนพญานาค ปิ่นโบราณ งานทองโบราณ งานประณีตศิลป์ โดยช่างทองฝีมือชั้นครู
“เรารังสรรค์งานประณีตศิลป์ด้วยใจ และด้วยความพิถีพิถัน”