๛ อุณาโลม สัญลักษณ์แห่งความมงคลสูงสุด ๛

อุณาโลม เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์เก่าแก่มากสัญลักษณ์หนึ่งในโลก บ้างว่ามีลักษณะคล้ายกับเลข ๑ บ้างก็ว่าเลข ๙ หรือบ้างก็ว่าก้นหอย มีทั้งเวียนซ้ายและเวียนขวา เป็นสัญลักษณ์มงคลที่มักถูกใช้บนเครื่องรางของขลัง การเจิมบ้าน เจิมรถยนต์
อุณาโลม ความหมายตามพจนานุกรม แปลว่า ขนระหว่างคิ้ว
ในทางพุทธศิลป์ อุณาโลมคือจุดวงกลมที่อยู่บนหน้าผากของพระพุทธรูป
ตามคติทางพระพุทธศาสนา อุณาโลมเป็นหนึ่งในมหาปุริสลักขณะ หรือลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ดังคำบาลีในพระไตรปิฎกกล่าวว่า “อุณฺณา ภมุกนฺตเร ชาตา โอทาตา มุทุ ตูลสนฺนิภา” คือ มีพระอุณาโลมขาวละเอียดอ่อนดังปุยนุ่น เกิดขึ้นระหว่างพระขนง และมีอรรถกถาขยายความว่า ถ้าจับปลายเส้นพระโลมาแล้วดึงออกจะได้ความยาวประมาณครึ่งช่วงแขน เมื่อปล่อยกลับ เส้นพระโลมาจะม้วนเป็นทักษิณาวรรต ปลายชี้ขึ้นบน อุณาโลมเป็นสัญลักษณ์ของการรู้แจ้งเห็นจริงหรือการตรัสรู้
หากมองในแง่สัญลักษณ์ พระอุณาโลมอาจเปรียบได้กับตาที่สามของพระศิวะ ตำแหน่งของอุณาโลมคือตำแหน่งอาชณะ (Ajna) หรือ Third Eye ในระบบจักระ ซึ่งเป็นตำแหน่งจักระที่เชื่อว่าเชื่อมต่อกับโลกทางจิตวิญญาณ เป็นจุดกำเนิดของญาณหยั่งรู้ ตาที่สามเปรียบเสมือนช่องทางของพลังอำนาจที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในสมองของมนุษย์
สัญลักษณ์อุณาโลม จากรูปแบบที่เป็นจุด ต่อมาได้ถูกพัฒนาเป็นอักขระ สันนิษฐานว่าได้รับรูปแบบมาจากขอมโบราณ มีการใช้สัญลักษณ์อุณาโลมในอักขระยันต์ต่าง ๆ ดังปรากฎอยู่ในตำราพิชัยสงคราม และยังมีการพบสัญลักษณ์อุณาโลมในเสื้อทหารที่ลงยันต์เอาไว้

ภาพประกอบ : พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีการนำสัญลักษณ์อุณาโลมมาใช้เป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์
นอกจากนี้ ยังมีตำนานที่กล่าวถึงสัญลักษณ์อุณาโลมที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สรุปใจความว่า “เมื่อตอนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทำสงคราม ๙ ทัพ ได้มีการรวมทหารมาจากที่ต่าง ๆ และทหารได้เกิดการขัดแย้งกันขึ้น เนื่องจากแต่ละคนต่างก็ถือเครื่องรางของขลังจากต่างอาจารย์กัน ต่างฝ่ายต่างก็ว่าอาจารย์ของตนดี มีการท้าทายให้มาลองของกันอยู่เสมอ เกิดบาดเจ็บล้มตายกันบ่อย ในที่สุดก็แตกแยกสามัคคีกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทได้ทราบเรื่อง จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ริบเอาเครื่องรางของทหารแต่ละคนมารวมไว้ ห้ามมิให้นำไปใช้ และให้จัดทำผ้าประเจียดมียันตร์อุณาโลมขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก โดยได้นำไปปลุกเสกที่พระอุโบสถวัดชนะสงคราม จากนั้นจึงโปรดให้แจกจ่ายผ้าประเจียดให้ทหารทุกคนเหมือนกัน จึงได้เกิดความสามัคคีในกองทัพขึ้นมา ท้ายที่สุดสามารถตีกองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป” จากตำนานเรื่องนี้ สัญลักษณ์อุณาโลมจึงได้กลายเป็นตราประจำหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพต่อมา
ในปัจจุบัน มีการใช้สัญลักษณ์อุณาโลมอย่างแพร่หลาย อุณาโลมถือเป็นเครื่องหมายของความเป็นสิริมงคล ในการเขียนยันต์ต่างๆ ก็มักจะต้องเขียนยันต์อุณาโลมกำกับเอาไว้ โดยถือว่าศักดิ์สิทธิ์และสร้างความสำเร็จถึงขั้นสูงสุด
(ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.chakras.info/third-eye-chakra)
บทความเรื่อง “สัญลักษณ์อุณาโลมการสื่อความความหมายของสัญลักษณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน” โดย กิตติธัช ศรีฟ้า , นิเทศสยามปริทัศน์ ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๒
๛๛๛๛๛๛๛๛๛๛๛๛๛๛
ผลงาน : จี้และเข็มกลัดทองคำ ลวดลายอุณาโลม ประดับยอดไพลินล้อมเพชร
ออกแบบและรังสรรค์ผลงานโดยทองถนิม